วันพุธที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ร่วมพลิกฟื้นพื้นที่ป่า'แม่แจ่ม'

ร่วมพลิกฟื้นพื้นที่ป่า'แม่แจ่ม' ลดบุกรุกป่า-วิกฤติหมอกควัน : โดย...วรัทยา ไชยลังกา


           อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ขึ้นชื่อเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวโพดขนาดใหญ่ ปัจจุบันมีพื้นที่เพาะปลูกกว่า 1.6 แสนไร่ เพิ่มขึ้นจาก 3 ปีที่แล้วมีเพียง 8 หมื่นไร่ โดยราคาข้าวโพดที่เพิ่มขึ้นเป็นสิ่งจูงใจให้เกษตรกรเพิ่มพื้นที่เพาะปลูก แต่เนื่องจาก อ.แม่แจ่ม พื้นที่เกือบทั้งหมดเป็นป่าต้นน้ำชั้น 1A เขตป่าสงวน เขตอุทยานแห่งชาติ พื้นที่เพาะปลูกขณะนี้จึงเป็นการบุกรุกป่า
           ณรงค์ เจริญใจ เกษตรกร อ.แม่แจ่ม กล่าวว่า การปลูกข้าวโพดใน อ.แม่แจ่ม ส่วนใหญ่เป็นการบุกรุกพื้นที่ป่า และยังมีการขยายเพิ่ม ทั้งนี้ ปกติแล้วหากเปิดหน้าดินใหม่สำหรับปลูกข้าวโพดจะปลูกได้เพียง 4 ปี เนื่องจากเกิดการชะล้างหน้าดินทำให้เกษตรกรต้องขยายพื้นที่เพิ่ม ขณะเดียวกันก็ได้ใช้วิธีเผาในการกำจัดเศษซาก จนส่งผลให้เกิดปัญหาหมอกควัน
          ด้าน อุทิศ สมบัติ ประธานเครือข่ายกลุ่มพัฒนาเมืองแจ่ม อ.แม่แจ่ม กล่าวว่า พื้นที่ อ.แม่แจ่ม 100% เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำชั้น 1A เขตป่าสงวน เขตอุทยานแห่งชาติ การถือครองที่ดินที่มีโฉนดมีเพียง 20% ส่วนที่เหลือที่ทำเกษตรเป็นการบุกรุกที่ป่า ไม่มีเอกสารสิทธิ โดยพืชที่เพาะปลูกจะเป็นข้าวและข้าวไร่
             พงษ์พีระ ชูชื่น ปลัดอาวุโส อ.แม่แจ่ม กล่าวว่า การบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อนำมาทำเป็นพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2542 โดยมีบริษัทเอกชนเข้ามาส่งเสริมให้มีการเพาะปลูกข้าวโพด เพราะเหมาะกับสภาพพื้นที่ที่มีน้ำน้อย และข้าวโพดเองก็ไม่ต้องใช้น้ำในการปลูกมากนัก โดยเฉพาะชาวบ้าน ต.แม่นาจร ต.กองแขก ต.แม่ศึก และ ต.ท่าผา ทั้งนี้ มติครม. ปี 2542 มีมติให้ชาวบ้านใช้ที่ดินดังกล่าวทำกินได้ รอจนกว่าจะมีการพิสูจน์สิทธิ์ ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้า
            สำหรับพื้นที่ทั้งหมดของ อ.แม่แจ่ม มี 3,000 ตร.กม.พื้นที่กว่า 80% ของชาวบ้านเป็นพื้นที่ป่าเชิงเขา ไม่มีเอกสารสิทธิ อย่างไรก็ตาม ในปี 2554 ได้มีการจัดทำโครงการวัดจับจีพีเอสบุกรุกพื้นที่ป่า โครงการต่อเนื่องของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.เชียงใหม่ เพื่อป้องกันการบุกรุกพื้นที่ป่าเพิ่มเติม โดยโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จและมีผลบังคับใช้แล้ว ซึ่งหลังจากที่วัดจับจีพีเอสก็พบกว่าการบุกรุกพื้นที่ป่าลดน้อยลงอย่างมาก ปี 2555 พบว่ามีการบุกรุกป่าเพิ่มเติมเพียง 300 ไร่เท่านั้น
            พงษ์พีระ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ จ.เชียงใหม่ ได้ผลักดันให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชชนิดอื่นแทนข้าวโพด ทั้งไม้ผลและยางพารา เป็นการฟื้นคืนผืนป่าและลดปัญหามลพิษหมอกควัน แต่เนื่องจากที่ดินที่ชาวบ้านถือครอบยังไม่มีเอกสารสิทธิจึงเกรงว่าหากปลูกยางไปจะไม่สามารถกรีดยางได้เมื่อครบกำหนดอายุ ดังนั้น จึงผลักดันให้มีการเช่าที่ดินปีละ 20 บาทต่อไร่ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ชาวบ้าน ซึ่ง ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ผู้ว่าฯเชียงใหม่ รับทราบและเห็นชอบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
            วิจิตร กูลเรือง ประธานสหกรณ์การเกษตรแม่แจ่ม  จำกัด กล่าวว่า ปี 2548 ได้ทดลองปลูกยางพาราบนพื้นที่ 1,000 ไร่ และจากข้อมูลของกรมวิชาการเกษตร พบว่าผลผลิตน้ำยางที่ได้มีคุณภาพดี ดังนั้น สหกรณ์จึงได้สานต่อโครงการดังกล่าว โดยปี 2555 ได้จัดทำโครงการส่งเสริมการปลูกยางขึ้น มีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดสนใจเข้าร่วมโครงการกว่า 273 ราย คิดเป็นพื้นที่ปลูกยาง 2,035 ไร่ โดยจะให้เกษตรกรทดลองปลูกคนละ 5 ไร่ คิดเป็นต้นทุนเฉลี่ย 2.4 หมื่นบาท
              โดยสหกรณ์จะกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 16 ล้านบาท เพื่อนำมาปล่อยกู้ให้แก่สมาชิก และสหกรณ์จะเป็นผู้จัดหากล้ายาง ปุ๋ย รวมถึงยาฆ่าแมลงและยาฆ่าศัตรูพืชให้แก่เกษตรกร สำหรับเงื่อนไขกู้เงินนั้นจะเป็นการกู้ระยะยาว 5 ปีแรกชำระเพียงเงินต้นเท่านั้น และตั้งแต่ปีที่ 6 ขึ้นไปจึงจะชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย
             ทั้งนี้ ได้มีการประสานกับเอกชนตัวแทนจำหน่ายกล้ายาง รวงทองการเกษตร และสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ให้มาเปิดคลินิกอบรมและให้ความรู้เรื่องการปลูกยางแก่เกษตรกรด้วย
             หากโครงการส่งเสริมการปลูกยาง อ.แม่แจ่ม ประสบผลสำเร็จ นอกจากจะเพิ่มพื้นที่สีเขียว ทำให้ป่าต้นน้ำชั้น 1A กลับมาเขียวชอุ่มแล้ว ปัญหาหมอกควันที่เกิดจากการเผาตอซัง และการเตรียมพื้นที่การเกษตรเพาะปลูกข้าวโพดกว่าแสนไร่ก็จะค่อยๆ ลดลงอย่างต่อเนื่อง
.........................................................
(ร่วมพลิกฟื้นพื้นที่ป่า'แม่แจ่ม' ลดบุกรุกป่า-วิกฤติหมอกควัน  : โดย...วรัทยา ไชยลังกา)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น