วันพุธที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2555

'เขื่อนลำปาว'น้ำฮวบส่อวิกฤติแล้ง

เขื่อนลำปาว กาฬสินธุ์ ส่อวิกฤติแล้ง หลังปริมาณน้ำลดฮวบเหลือในอ่างเพียง 23% ของความจุอ่าง ขณะที่พิษณุโลก ฝนตกหนักต่อเนื่องน้ำท่วมขังสูงกว่า 50 ซม. ส่วนชัยภูมิ-นครพนม เตือนระวังน้ำท่วมฉับพลัน


          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 55  จากการติดตามสถานการณ์ภัยแล้งที่จังหวัดกาฬสินธุ์ พบว่าหลายพื้นที่ยังคงประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะเขื่อนลำปาว แม้จะมีฝนตกลงมาบ้าง ซึ่งก็มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเพียง 9 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น ทำให้ปัจจุบันมีปริมาณน้ำในอ่างเพียง 462.2 ล้านลูกบาศก์เมตร จากปริมาณกักเก็บ 1,950 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 23.34% ส่งผลให้พื้นที่การเกษตรที่อยู่ในเขตระบบชลประทานเขื่อนลำปาว โดยเฉพาะเกษตรกรที่มีพื้นที่นาข้าวอยู่ท้ายคลองหลายพันไร่ ได้รับน้ำไม่เพียงพอที่จะไปเลี้ยงพืชผลการเกษตร ซึ่งต้องแก้ปัญหาโดยการนำเครื่องสูบน้ำมาติดตั้งสูบน้ำในคลองธรรมชาติลงสู่ที่นาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเป็นการเบื้องต้น
          ด้านนายพรเทพ เหม็งประมูล ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว กล่าวว่า แม้จังหวัดกาฬสินธุ์จะเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงหลายพื้นที่ทำให้ปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนลำปาวน้อย จนปัจจุบันมีปริมาณน้ำในอ่างคิดเป็น 23.34% แต่ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบกับเกษตรกรในอยู่ในเขตพื้นที่ชลประทานมากนัก เนื่องจากทางเขื่อนยังสามารถส่งน้ำเข้าคลองชลประทานเฉลี่ยวันละ 5.77 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรในโครงการฯ 314,300 ไร่ และการทำประมงอีกส่วนหนึ่ง อีกทั้งบางพื้นที่ยังคงมีฝนตกลงมาบ้าง
          ทั้งนี้ทางเขื่อนยังคงรอปริมาณน้ำฝนจากพายุ ซึ่งคาดว่าน่าจะตกลงมา และมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเร็วๆ นี้ แต่เพื่อเป็นการป้องกันได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดสรรน้ำดำเนินการวางแผนจัดสรรน้ำ การส่งน้ำ การระบายน้ำ และรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด

พิษณุโลก ฝนตกหนักต่อเนื่องน้ำท่วมขังสูงกว่า 50 ซม.

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  ช่วงหลังเที่ยงคืนที่ผ่านมา ในเขต อ.เมืองพิษณุโลก มีพายุฝนฟ้าคะนองตกลงมาอย่างหนักและต่อเนื่อง วัดปริมาณน้ำฝนได้ 67.4 มิลลิเมตร ส่งผลให้พื้นที่ต่ำในเขตเทศบาลนครพิษณุโลกหลายชุมชนประสบภาวะน้ำท่วมขัง ได้แก่ บริเวณวัดจันทร์ตะวันตก ชุมชนพระลือ ในช่วงเช้าประชาชนต้องช่วยกันนำเครื่องสูบน้ำออกจากบ้านเรือนที่อยู่อาศัย มีบ้านเรือนประชาชนถูกน้ำท่วมขังจำนวนกว่า 10 หลังคาเรือน
          นายละมัย นวลจีน ชาวบ้านชุมชนพระลือ กล่าวว่า เมื่อหลังเที่ยงคืนที่ผ่านมา ฝนได้ตกลงมาอย่างหนัก ส่งผลให้น้ำท่วมขังบ้านเรือนในชุมชนสูงกว่า 50-70 ซม. ตนเองและครอบครัว ต้องนำสิ่งของและอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ เก็บมาให้ที่สูง ทั้งนี้เนื่องจากพื้นที่บ้านของตนเป็นพื้นที่ต่ำ อีกทั้งท่อระบายน้ำเล็ก ทำให้การระบายน้ำออกไปช้ามาก ส่งผลให้ต้องนำเครื่องสูบน้ำมาช่วยดึงอีกแรง
          ด้านนางสำเภา จิตมานนท์ อยู่บ้านเลขที่ 30/120 ชุมชนพระลือ อ.เมืองพิษณุโลก กล่าวว่า ฝนตกหนักมาก ทำให้น้ำท่วมขังบ้านของตนเกือบสูงเท่าพื้นบ้าน ตนต้องเก็บอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าขึ้นที่สูงทันที พร้อมทั้งนำเครื่องสูบน้ำสูบระบายออกแต่ก็น้อยมาก เนื่องจากปริมาณน้ำฝนได้ตกหนัก แต่ตนก็ไม่รู้ทำอย่างไร
          ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานลักษณะอากาศระบุว่า ในช่วงวันที่ 27-28 ส.ค. และ 1- 2 ก.ย. ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทยและอ่าวไทย จะมีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนหนาแน่น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง โดยเฉพาะในภาคเหนือ สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามัน และอ่าวไทยตอนบน มีกำลังแรงขึ้นโดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 29-31 ส.ค. ร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านประเทศพม่า และลาว ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทยและอ่าวไทย จะมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยมีฝนอยู่ในเกณฑ์กระจายถึงเกือบทั่วไป
          อนึ่ง พายุไต้ฝุ่น "เทมบิง" (TEMBIN) เคลื่อนตัวกลับสู่เกาะไต้หวัน ในช่วงวันที่ 27-28 ส.ค. 2555 ส่วน พายุ "โบลาเวน" (BOLAVEN) มีทิศทางการเคลื่อนตัวไปทางประเทศญี่ปุ่นตอนใต้และคาบสมุทรเกาหลี ในช่วงวันที่ 27-29 ส.ค. 2555 ผู้ที่จะเดินทางไปบริเวณดังกล่าวควรตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกเดินทาง อนึ่ง พายุไต้ฝุ่น "เทมบิง" (TEMBIN) เคลื่อนตัวกลับสู่เกาะไต้หวัน ในช่วงวันที่ 27-28 ส.ค. 2555 ส่วน พายุ "โบลาเวน" (BOLAVEN) มีทิศทางการเคลื่อนตัวไปทางประเทศญี่ปุ่นตอนใต้และคาบสมุทรเกาหลี ในช่วงวันที่ 27-29 ส.ค. 2555 ผู้ที่จะเดินทางไปบริเวณดังกล่าวควรตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกเดินทาง

ชัยภูมิ - ฝนตกต่อเนื่องเตือนระวังน้ำท่วมฉับพลัน

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  นายประสบ จงรั้งกลาง หัวหน้าโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนลำปะทาว จ.ชัยภูมิ เปิดเผยว่า สถานการณ์ปริมาณน้ำในเขื่อนลำปะทาว ปีนี้ ซึ่งเดิมมีความจุในเขื่อนลำปะทาวตอนบนได้ทั้งหมด กว่า 44 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนตอนล่าง กว่า 16 ล้าน ลบ.ม. แต่ในปัจจุบัน มีน้ำเหลือทั้งหมดไม่ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ในเขื่อนตอนบนเหลือปริมาณน้ำเหลือเพียง 13 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนตอนล่างเหลือเพียง 6 ล้าน ลบ.ม.
          ซึ่งล่าสุดปัจจุบันมีฝนตกลงมาในพื้นที่ต่อเนื่องในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ทำให้มีปริมาณน้ำในเขื่อนตอนบนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเกือบ 1 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มขึ้นเป็น 14 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนตอนล่างมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นกว่า 2 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 8 ล้าน ลบ.ม. สูงขึ้นกว่า 50 เปอร์เซ็นต์แล้วของความจุ 16 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งถ้ายังคงมีปริมาณฝนตกต่อเนื่องได้ตลอดช่วงนี้ คาดว่าน่าจะช่วยให้สถานการณ์ภัยแล้งคลี่คลายลงได้บ้าง และยังต้องอาจเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมฉับพลันได้ทุกระยะช่วงเดือน ส.ค.-ต.ค.ปีนี้ด้วยเช่นกัน
          แต่ก็ต้องยังเสี่ยงต่อการประสบภัยแล้งหนักอยู่ และให้ระวังวิกฤตภัยแล้งในช่วงนี้ไว้ก่อนด้วย ซึ่งถึงแม้จะมีน้ำเพิ่มในเขื่อน แต่ก็ยังมีระดับน้ำที่จะปล่อยน้ำให้ด้านการเกษตรไม่เพียงพออยู่ ในพื้นที่การเกษตรรอยต่อ 2 อ.เมืองชัยภูมิ และ อ.แก้งคร้อ ควรหลีกเลี่ยงการปลูกพืชใช้น้ำมากไปก่อนในช่วงนี้ด้วยอีกทางด้วยเช่นกัน เกษตรและประชาชนในพื้นที่จึงยังจำเป็นต้องคอยติดตามการแจ้งเตือนว่าสถานการณ์น้ำในเขื่อนปีนี้อย่างใกล้ชิดทุกระยะ แลจุดเสี่ยงมีทั้งภัยแล้ง ถ้าฝนไม่ตกต่อเนื่อง และอีกด้านถ้าตกหนักจนอาจถึงจุดเสี่ยงอาจเกิดน้ำท่วมฉับพลันได้เช่นกันทั้ง 2 ทางในปีนี้

นครพนม - ผวาน้ำโขงหนุนน้ำสงครามทะลักท่วมท่าอุเทน

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ชาวบ้านนับ 100 หลังคาเรือน ริมตลิ่งสองฝั่งปากแม่น้ำสองสี ตำบลไชยบุรี อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ซึ่งเป็นปากน้ำ ลำน้ำสงคราม ไหลมาจากอำเภอศรีสงครามลงสู่แม่น้ำโขงที่นี่ และเมื่อกระแสน้ำโขงสูงขึ้นก็หนุนเนื่องเข้าตรงปากน้ำแห่งนี้ ล่าสุดระดับน้ำโขงสูงขึ้นวัดได้ 9.52 ซม. โดยประเด็นที่ชาวบ้านริมตลิ่งเดือดร้อนที่สุดมาตลอดทั้งเดือนคือการทรุดของดินตลิ่งถูกกระแสน้ำกัดเซาะอย่างรุนแรงกว่าทุกปี ซึ่งก่อนหน้านี้บ้านหลายหลังริมน้ำหวิดถล่มลงน้ำจากการทรุดตัวของดินตัวบ้านแตกร้าว โดยทาง อบจ.นครพนม และ อบต.ไชยบุรี พร้อมชาวบ้านช่วยกันทำเขื่อนป้องกันตลิ่งพังแก้ไขปัญหาในเบื้องต้นจุดบ้านที่บ้านใกล้ถล่มจมน้ำ
          ล่าสุดเมื่อกลางดึกคืนที่ผ่านมาเกิดดินถล่มติดตัวบ้าน เดชะบุญเจ้าของบ้านไม่อยู่ น.ส.ธัญญรัตน์ สุภานนท์ วัย 30 ปี เจ้าของบ้านเลขที่ 22 บ้านไชยบุรี หมู่ 7 ต.ไชยบุรี อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม เปิดเผยว่า ตนเป็นพยาบาล อยู่ที่โรงพยาบาลนครพนม บ้านตนปลูกอยู่ริมน้ำ เดิมทีห่างตลิ่งราว 20 เมตร ทุกปีน้ำก็เซาะตลิ่งเข้ามาเรื่อยๆ แต่ปีนี้ดินทรุดมากจนติดเสาบ้านด้านริมน้ำ และเหตุการณ์หวาดเสียวเกิดขึ้นเมื่อกลางดึกวันที่ 26 ส.ค. ที่ผ่านมา ตนเข้าเวรอยู่ รุ่งเช้าเพื่อนโทรมาบอกว่าดินตลิ่งริมบ้านตนทรุด ตนรีบมาดูตกใจมากเพราะบริเวณดินทรุดนั้นเป็นจุดจอดรถทุกวันยุบไปทั้งแถบ               "ถ้าตนมานอนบ้านคืนนั้นรถตนคงตกไปในน้ำด้วย และเบื้องต้นภายในบ้าน ผนังเกิดแตกร้าว ก่อนที่ อบต.และเพื่อนบ้าน จะช่วยกันทำเขื่อนกระสอบทรายปักเสาไม้ป้องกันไว้ก่อน ถ้ารัฐยังไม่มาสร้างเขื่อนถาวร บ้านตนถล่มลงแน่นอน แต่สิ่งที่ตนไม่เข้าใจ ทำไมรัฐมาสร้างเขื่อนในจุดที่ยังไม่เดือดร้อนเท่าไหร่ แต่จุดอันตรายต่อชุมชนมากที่สุด กลับไม่เห็นความสำคัญ"
          นายธวัชชัย ศรีหาทอง อายุ 41 ปี ชาวบ้านตาลปากน้ำ หมู่ 2 ต.ไชยบุรี กล่าวว่า บ้านตนจะปลูกริมน้ำอีกฝั่งหนึ่งเดิมทีก็ห่างจากฝั่งกว่า 20 เมตร และเกิดตลิ่งทรุดตัวมาทุกปีแต่ปีนี้ทรุดหนักผิดปกติและทรุดตัวลึกติดหลังบ้านตนเลย ซึ่งก็ได้รับการช่วยเหลือจาก อบต.และชาวบ้านช่วยกันทำเขื่อนกระสอบทรายตอกเสาไม้แก้ไขปัญหาไม่ให้ดินทรุดบ้านถล่มจมน้ำ ถ้ารอดปีนี้ ปีหน้าคงหนักกว่านี้ ถ้ายังไม่มีการสร้างเขื่อนที่นี่
          นายปั่น พันบุรี อายุ 63 ปี บ้านไชยบุรี หมู่ 7 กล่าวว่า ตนมีชีวิตผูกพันกับลำน้ำสงครามปากน้ำไชยบุรีตั้งแต่เด็กโตขึ้นก็เป็นชาวประมงหาปลาที่นี่ตั้งแต่อายุ 15 ปี ที่นี่คือปากน้ำโขงกับลำน้ำสงคราม ในเดือน 6 ปลาจากลำน้ำโขงจะว่ายทวนน้ำขึ้นไปวางไข่ที่ลุ่มน้ำอำเภอศรีสงครามและในเดือน 11-12 ปลาก็จะว่ายจากลุ่มน้ำอำเภอศรีสงครามลงสู่น้ำโขง จึงทำให้ปากน้ำสองสีไชยบุรีจับปลาได้มาก แต่ก่อนบ้านเรือนชุมชนสองฝั่งเขาจะปลูกริมน้ำห่างจากดินตลิ่ง 30-40 เมตร แต่กระแสน้ำกัดเซาะเข้ามาเรื่อยๆ ปีนี้เท่าที่ตนสังเกตตลิ่งทรุดตัวมากที่สุดก็ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร เพราะปีที่แล้วก็ไม่หนักขนาดนี้     
          ด้านนายอารี ดวงสงค์ ผู้ใหญ่บ้านตาลปากน้ำ หมู่ 2 ต.ไชยบุรี เปิดเผยว่า ทุกปีที่ผ่านมาก็จะมีปัญหาตลิ่งริมน้ำทรุดตัวเรื่อยๆ ตลอดแนวสองฝั่งลำน้ำสร้างโดยตลิ่งที่ทรุดนั้นอันตรายที่สุดคือจุดที่ติดบ้านเรือนประชาชนนอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่ว่างเปล่าสวนชาวบ้านที่ติดริมน้ำจะเห็นร่องรอยได้ชัดทั้งต้นไม้สวนกล้วยโค่นตามดินถล่มซึ่งตนก็เป็นคนที่นี่ปีนี้ยอมรับว่าตลิ่งทรุดหนักจริงๆ ผิดกว่าปกติมาก ซึ่งตนมองว่าเกิดจากกระแสน้ำเปลี่ยนทิศทางน้ำป่ามากทำให้น้ำไหลแรงและเกิดจากการสร้างเขื่อนกั้นตลิ่งพังระสั้นๆ ยาวจุดละ 40-60 เมตร เมื่อน้ำไหลมามันจะกระแทกกับขอบเขื่อนจนเกิดกระแสน้ำวนในที่ดินที่ยังไม่สร้างเขื่อนทำให้ทรุดตัวหนักมากและจะหนักขึ้นเรื่อยๆ ในปีต่อไปซึ่งการแก้ไขปัญหารัฐต้องสร้างเขื่อนกันตลิ่งพังเป็นแนวยาวตลอด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น