วันพุธที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ยาคูลท์ เรื่องที่หลายคนยังไม่รู้

ปัจจุบันมีเครื่องดื่มน้ำสีส้มขวดขาวขุ่นออกมาวางแข่งกับยาคูลท์หลายยี่ห้อ ดิฉันก็เคยซื้อกินเหมือนกัน ด้วยเหตุผลที่ว่ามันถูกดี กินทีอิ่มไปหลายชั่วโมง หลอดก็ใหญ่กว่า ดูดได้สะใจ หรือจะยกซดก็ไม่เลว แต่จะว่าไปแม้จะพยายามเลียนแบบอย่างไร (ก็ไม่รู้เหมือนกันว่า เจ้าอื่นเขาจงใจเลียนแบบหรือแค่บังเอิญ)ยาคูลท์ก็ยังไม่มีผู้ใดเทียบเทียมได้

มีข้อน่าสังเกตคือ ยาคูลท์ไม่ควรดื่มเกินวันละ 2 ขวด เนื่องจากแท้จริงแล้ว ยาคูลท์นั้นมิใช่ขนมแต่เป็นนมที่ผ่านการหมักบ่มกับน้ำตาลและน้ำและผสมกับเชื้อแบคทีเรียฝ่ายธรรมะ ที่ชื่อว่า Lactobacillus casei shirota strain ที่เราคุ้น ๆ หูกันอยู่นั่นเอง ดังนั้นถ้ามีไอ้เลคโตบาสิลัสมากไปมันอาจจะแย่งที่อยู่ ทีนี้ละก็บ้านที่มันอาศัยหรือก็คือท้องของเราเองก็จะถูกแลคโตบาสิลัสพันธุ์นักการเมืองปู้ยี่ปู้ยำ ผลสุดท้ายเป็นอย่างไรคงไม่ต้องบอก

ยาคูลท์ทำงานอย่างไร
หากมองลงไปในพุงกะทิของเราเองจะเห็นว่าลำไส้เล็กนั้น จะบีบขย้ำกดขี่ข่มเหงและแปลงอาหารที่เรากินเข้าไปให้เป็นสารที่เป็นประโยชน์เพื่อรอการดูดซึม แต่ในขณะเดียวกันก็จะมีสารที่เป็นโทษหลุดรอดออกมาด้วย เมื่อร่างกายก่อเกิดความสมดุลของแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ระบบย่อยอาหารของเราก็จะทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เฉลี่ยแล้ว แลคโตบาซิลัสมีมูลค่าตัวละ 0.00000000075 บาท แต่ถ้าสมดุลเสียไป สารพิษและสารอันตราย อาจถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้โดยง่าย ดังนั้นไอ้เจ้าแลคโตบาสิลัสก็เลยคิดใหม่ทำใหม่กลายเป็นพระเอกม้าขาว (ออกสีนวล ๆ ส้ม ๆ หน่อย)เข้ามาแก้ปัญหาดังกล่าวโดยการปรับสมดุลของลำไส้ ช่วยควบคุมการเคลื่อนไหวของช่องท้องให้สม่ำเสมอ ลดสารที่จะก่อให้เกิดความเสียหายที่ถูกผลิตโดยแบคทีเรียฝ่ายค้าน (ฝ่ายย่อยสลาย)
จุดเริ่มต้น

หากใครคิดว่ายาคูลท์มีแค่เมืองไทยละก็ผิดถนัด เพราะยาคูลท์มีสัญชาติญี่ปุ่นเต็มตัวนับว่าเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับโกโบริก็น่าจะได้ เพราะเมื่อ 70 กว่าปีก่อนหรือปี คศ.1930 ดร.มิโนรุ ชิโรตะ (คศ.1899-1982) จากคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ได้เริ่มต้นวิจัยพัฒนายาคูลท์ขึ้นเป็นครั้งแรก ด้วยเหตุที่ว่าในช่วงเวลานั้น ชาวญี่ปุ่นประสบกับปัญหาเกี่ยวกับโรคที่เกี่ยวกับระบบย่อยอาหารเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้เนื่องจากขาดสารอาหาร การสาธารณะสุขและสภาพเศรษกิจ และในระหว่างปี คศ. 1930-1935 ดร.ชิโรตะสามารถจำแนกแยกแบคทีเรียจากลำไส้คนได้ถึง 300 ชนิด

เป้าหมายหลักคือ จำแนกแบคทีเรียที่สามารถอยู่รอดปลอดภัยจากการเดินทางของมันผ่านช่องท้องและน้ำดี ที่มีฤทธิ์เป็นกรดไปสู่ลำไส้เล็กที่ ๆ มันสามารถทำงานได้ ในระบบย่อยแบคทีเรีย แต่ละชนิดถูกทดสอบความทนทานต่อกรดและน้ำดี และแบคทีเรียตัวที่หนังเหนียวที่สุดก็คือ ถ้าเก็บที่อุณหภูมิ 10 องศา จุลินทรีย์จะหลับ แล้วช่วงที่เราเอาออกมาดื่ม ณ อุณหภูมิห้อง 37-38 องศา มันจะตื่นก็พร้อมจะทำงานให้ร่างกายเราทันที ถ้าตู้เก็บความเย็นไม่พอ หรือวางทิ้งไว้ที่อุณหภูมิห้อง จุลินทรีย์อาจมีปริมาณมากกว่าที่ระบุไว้ข้างขวด เพราะมันเติบโตขยายพันธุ์ไปเรื่อย ๆ แต่ตัวพ่อตัวแม่จะเริ่มอ่อนแอลง เพราะออกลูกออกหลานจนเหนื่อย ฉะนั้นให้รีบๆ กินซะ แต่ถ้าคุณปล่อยให้ยาคูลท์ตากแดด จุลินทรีย์จะตาย ยังกินได้อยู่นะแต่ก็ไม่มีประโยชน์แล้ว


ยาที่มา: blog.fukduk.tv

วันพฤหัสบดีที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ฝึกสมาธิ สิ่งจำเป็นที่สุดในการทำงาน

ท่ามกลางความสับสนวุ่นวายในชีวิตการทำงานนั้น เราจึงจำเป็นต้องสร้างสมาธิในการทำงาน เพราะสมาธิเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากในการทำงานทุกประเภท

ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาก็ต้องมีสมาธิในการเรียน คนขับแท็กซี่ก็ต้องมีสมาธิในการขับรถ หมอก็ต้องมีสมาธิในการตรวจคนไข้ รวมถึงพวกเราชาวออฟฟิศทั้งหลายก็ต้องใช้สมาธิในการทำงานด้วย เพราะสมาธิจะช่วยให้เราทำงานได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ใครที่รู้ตัวว่า ไม่ค่อยจะมีสมาธิในการทำงานลองมาฝึกสมาธิไปพร้อมๆ กับผมกันดีกว่า

อย่างแรกลองฝึกขั้นง่ายๆ กันก่อน นั่นคือการอ่านหนังสือครับ
หลายคนคงจะงง เพราะตอนนี้คุณกำลังอ่านอยู่ อ่านหนังสือจะฝึกสมาธิได้อย่างไร การอ่านหนังสือที่ผมแนะนำไม่ใช่การอ่านแบบกวาดสายตาผ่านๆ ไปแบบรู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง แต่เป็นการอ่านที่คุณห้ามละสายตาจากตัวอักษรนั้นๆ เลย  เรียกว่าอ่านแบบพยายามหาว่ามันมีตัวไหนที่เขาเขียนผิดหรือเปล่า ค่อยๆ อ่านครับ ไม่ต้องรีบ แรกๆ ลองตั้งเวลาสัก 5 นาทีก่อน ถ้าคุณทำได้โดยที่คุณไม่ละสายตาไปสนใจสิ่งรอบข้าง ครั้งต่อไปคุณก็เพิ่มเวลาเป็น 10 นาที 15 นาที แล้วคุณจะมีสมาธิกับสิ่งที่คุณกำลังทำอยู่มากขึ้น
ขั้นต่อมา ลองตั้งใจฟังบ้างครับ เพราะหลายๆ คน บางครั้งเจ้านายสั่งอย่าง แต่เรากลับไปทำอีกอย่าง ของแบบนี้มันต้องมีผิดพลาดกันได้บ้าง แต่คุณควรจะแก้ไขโดยฝึกสมาธิในการรับฟังครับ โดยเริ่มจากการฟังเทปบันทึกเสียงหรือคำสอนต่างๆ ที่ไม่ใช่เพลง เพราะถ้าเป็นเพลงคุณอาจจะเพลิดเพลินกันจนไม่ได้จับใจความสำคัญ ฝึกไปเรื่อยๆ เลยครับ จนคุณแทบจะจำทุกคำพูดในเทปนั้นได้คราวนี้จะได้มีสมาธิในการฟัง
อีกขั้นตอนหนึ่ง ลองลงมือจัดเอกสารต่างๆ ของคุณให้เป็นที่เป็นทาง นับเป็นการฝึกสมาธิให้คุณได้ เพราะขณะที่คุณจัดเอกสารอยู่ คุณก็ต้องนึกว่าเอกสารฉบับนี้เราวางไว้ตรงนี้ ฉบับนั้นเราวางไว้ในตู้ อะไรทำนองนี้ เรียกว่าเป็นการย้ำความจำของเราอีกที แถมพอคราวหน้าเรามาหาเอกสารฉบับนั้นๆ จะได้ไม่ต้องรื้อโต๊ะกันให้วุ่นอีกด้วย
ต่อมาลองจัดลำดับความสำคัญของงานดูว่างานไหนสำคัญที่สุด ถ้าคุณยังนึกไม่ออก ลองนึกดูว่างานชิ้นไหนของคุณทำแล้ว คนอื่นๆ สามารถรับงานต่อจากคุณได้ หรือเป็นงานเร่งจริงๆ ถ้าไม่ได้ภายในชั่วโมงนี้หรือวันนี้ คนอื่นจะได้รับความเดือดร้อน นั้นแหละครับ รีบทำไปก่อนเลย คราวนี้คุณก็ไล่งานอื่นๆ ดูว่าต้องอันไหนต่อ เป็นการทวนตัวเองด้วยว่าวันนี้คุณมีงานอะไรต้องทำบ้าง
ข้อสุดท้ายครับ ทัศนคติกับงานที่คุณทำอยู่ ถ้าใครมีทัศนคติไม่ดีกับงานที่ตัวเองทำอยู่ ต่อให้เทพก็ไม่สามารถที่จะมีสมาธิในการทำงานได้ เพราะคุณจะหาแต่ข้ออ้างมาปฏิเสธงานต่างๆ ที่เข้ามา เพราะฉะนั้นคุณควรปรับเปลี่ยนทัศนคติเสียใหม่ เพื่อการทำงานที่ราบรื่น
ท้ายที่สุดแล้วก็ต้องเป็นตัวคุณเอง ที่ต้องฝึกทั้งสมาธิ ฝึกทั้งการควบคุมอารมณ์ของตนเอง เมื่อจิตใจสงบ มีสมาธิสติในการทำงานก็จะตามมา งานของคุณก็จะผิดพลาดน้อยลง



ผู้เขียน : ดร.สมสิทธิ์ มีแสงนิล