วันเสาร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2555

NASA : ขอใช้สนามบินอู่ตะเภา

กรณีองค์การนาซาสหรัฐอเมริกาขอใช้สนามบินอู่ตะเภา อ.สัตหีบ จ.ระยอง เพื่อจอดอากาศยาน และบินขึ้นตรวจสภาพอากาศ อันเป็นการดำเนินตามโครงการศึกษาการก่อตัวของเมฆที่มีผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังกลายเป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างกว้างขวางว่า จำเป็นต้องนำเข้ารัฐสภาเพื่อผ่านความเห็นชอบ ตามมาตรา 190วรรคสอง หรือไม่ แม้ว่ากรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศจะเห็นว่า ไม่เข้าข่ายในมาตรา 190 วรรคสอง แต่เป็นมาตรา 190 วรรคหนึ่ง คือผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก็เพียงพอแล้ว

ก่อนหน้านี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานประชุมร่วมกับผู้นำเหล่าทัพและผู้เกี่ยวข้อง เนื่องจากเกรงกระทบต่อความมั่นคง ขณะที่องค์การนาซาอ้างเหตุผล ดาวเทียมยุทธศาสตร์อยู่ใกล้บริเวณศรีราชา จึงต้องใช้สนามบินอู่ตะเภาซึ่งอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน การตรวจฝุ่นละออง เมฆ ส่วนใหญ่จะสำรวจพื้นที่ที่อยู่บริเวณทะเล และการใช้เครื่องบินจำเป็นต้องใช้ทางวิ่งที่ยาวมาก จึงต้องใช้สนามบินอู่ตะเภา ส่วน พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม ยืนยันไม่ใช่การเข้ามาตั้งฐานทัพอย่างที่
คิดกัน เพราะนาซากับกองทัพสหรัฐเป็นคนละเรื่องกัน

มาตรา 190 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 บัญญัติว่า “หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามสัญญา หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศ อย่างมีนัยสำคัญ ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา” นั่นเท่ากับว่าหากการลงนามนั้นเกี่ยวข้องกับการ “ผูกพันรัฐกับสัญญา” ใด ๆ ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา

ประเด็นที่ตามมาก็คือ ยังไม่สามารถชี้ขาดได้ว่า กรณีดังกล่าวเข้ากับมาตรา 190 วรรคหนึ่งหรือวรรคสอง และเมื่อชี้ขาดแล้วจะเป็นที่ยอมรับกันหรือไม่ ซึ่งไม่ต่างอะไรกับร่างรัฐธรรมนูญวาระสามที่เกิด “ทางตัน” ในขณะนี้ เพราะไม่ทราบว่า จะดำเนินการตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญให้ชะลอการพิจารณาออกไป  หรือดำเนินการตามความเห็นของอัยการสูงสุด กลายเป็นปัญหาข้อกฎหมายหาทางออกไม่ได้ เกิดวิกฤติการณ์ดุลอำนาจอย่างที่เห็นกัน จึงเป็นโจทย์ข้อใหญ่ของรัฐบาลที่ต้องตัดสินใจไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อบริบทการเมืองภายในประเทศอย่างแน่นอน.
เป็นการเปิดเผยของ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีต่างประเทศ ว่าสถานทูตสหรัฐฯ ส่งหนังสือขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐฯ หรือ "นาซ่า" ที่ขอใช้สนามบินอู่ตะเภา เป็นฐานปฏิบัติงานโครงการศึกษาสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถึงกระทรวงต่างประเทศ เพื่อขอคำตอบว่าจะอนุญาตหรือไม่ภายใน 26 มิถุนายน ไม่เช่นนั้นจะยกเลิก เพราะจำเป็นต้องเตรียมการ และติดตั้งอุปกรณ์ก่อนเริ่ม

ดังนั้นรัฐบาลจึงเตรียมนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้า และเห็นว่าเรื่องนี้เป็นประโยชน์กับไทย และไม่กระทบความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน รวมทั้งกับจีนด้วย

เช่นเดียวกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ระบุเรื่องนี้ไม่กระทบความมั่นคง อีกทั้งจีนและประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้เป็นกังวล เพราะเป็นเพียงการสำรวจเมฆและชั้นบรรยากาศ ที่เป็นประโยชน์โดยรวมกับทุกประเทศ

ส่วน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน เรียกร้องให้รัฐบาลชี้แจงโครงการอย่างละเอียด ตรงไปตรงมา เพื่อตรวจสอบว่าเกี่ยวข้องกับการเมืองระหว่างประเทศหรือไม่ แทนที่จะหาหลักฐานกล่าวหารัฐบาลที่แล้วไม่ได้ขอความเห็นชอบจากรัฐสภาเช่นกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น